สำหรับตอนที่ 1 2 และ 3 ก็ได้กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของระบบหน่วยการวัดระหว่างประเทศ หรือ SI (ย่อมาจากคำว่า System International d’ Unites หรือ International System of Unit) ไปแล้ว ซึ่งรวมทั้งได้กล่าวถึงนิยามของแต่ละหน่วยของหน่วยฐานเอสไอ (SI base unit definition) ไปแล้วเช่นกัน ส่วนในตอนที่ 4 นี้ จะพูดถึงนิยามของหน่วยของหน่วยฐานเอสไอ (SI base unit definition) ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงหน่วยการวัดจากหน่วยหนึ่งไปเป็นอีกหน่วยหนึ่ง โดยจะเริ่มจากหน่วยฐานเอสไอตัวแรก คือ ความยาว (Length)
ความยาว (Length) หน่วยฐานเอสไอของความยาวมีหน่วยเป็น “เมตร” ซึ่งแต่เดิมนิยามว่าหนึ่งเมตรเท่ากับ 1/10,000,000 ของระยะทางจากเส้นศูนย์สูตรของโลกไปยังขั้วโลกเหนือวัดจากเส้นรอบวงที่ผ่าน เมืองปารีส แต่เนื่องจากความแม่นยำทางมาตรวิทยา ที่มีมากขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ความยาวหนึ่งเมตรจึงถูกนิยามไว้ให้เท่ากับความยาวที่แสงเดินทางได้ใน สุญญากาศ ในช่วงเวลา 1/299792458 วินาที สัญลักษณ์ของเมตรคือ m
ทีนี้ก็ทราบนิยามหน่วยความยาว (Length) ของหน่วยฐานเอสไอกันแล้ว ซึ่งปัจจุบันหน่วยความยาวนี้ก็เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว แต่ก็มีบ้างในบางประเทศที่ยังใช้หน่วยความยาวที่แตกต่างไปจากนี้และยังไม่ยอมเปลี่ยนมาใช้หน่วยความยาวที่เป็นหน่วยฐานเอสไอ เช่น อเมริกา ใช้หน่วยความยาวเป็น ฟุต (foot) ไมล์ (mile) เป็นต้น หรือบ้างครั้งในประเทศเราเองก็ยังใช้หน่วยการวัดความยาวที่ผสมกัน เช่น ความสูงใช้ เซนติเมตร แต่สัดส่วนดันใช้ นิ้ว หรือ ไม้ท่อนเดียวกัน หน้าไม้วัดเป็นนิ้ว ความยาววัดเป็นเมตร เป็นต้น
เมื่อหน่วยการวัดความยาวมีใช้กันหลายหน่วยซึ่งบางครั้งทำให้สับสนได้เหมือนกัน เนื่องจากเวลาเทียบหน่วยการวัดสองหน่วยที่มีหน่วยต่างกันทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าอันไหนมีความยาวมากน้อยกว่ากันเท่าเท่าไร
ที่มาของข้อมูล
www.cib-buu.com